Logo CDCC

CENTER OF ART DESIGN CAPABILITIES FOR COMPETITION

ศูนย์ศักยภาพการแข่งขันด้านศิลปะเพื่อการออกแบบ

ประวัติความเป็นมา

ในปีการศึกษา 2549 มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้รับการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 2 จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ปรากฏว่าทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้รับผลประเมิน "ไม่รับรอง"

ต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ทางต้นสังกัด คือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จัดโครงการประชุมสัมมนา เรื่องการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพและแนวทางดำเนินการในกรณีที่สถาบันอุดมศึกษาหรือกลุ่มสาขาวิชามีผล ประเมิน "รอพินิจ" และหรือ "ไม่รับรอง" เพื่อให้แต่ละสถาบันหรือกลุ่มสาขาวิชาที่มีผลประเมิน "รอพินิจ" และหรือ "ไม่รับรอง" จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขปรับปรุง โดยมีการติดตามจาก สกอ. เพื่อเข้ารับการ ประเมินรอบที่ 2 ซ้ำจาก สมศ. และแก้ไขผลการประเมิน ดังนั้นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลจากการประเมินภายนอกรอบที่ 2 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยผู้ประเมินมีคำแนะนำว่า "คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ควรเร่งรวบรวมผลงานของศิษย์เก่า ที่ได้รับเกียรติคุณยกย่อง หรือรางวัลทางวิชาการและพัฒนานักศึกษาปัจจุบันให้มีศักยภาพด้านต่างๆ ในระดับชาติหรือนานาชาติ" ดังนั้นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาที่เรียนดี เพื่อเข้าแข่งขันในการงานประกวดด้านการออกแบบ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ อาจารย์แทน พิธิยานุวัฒน์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักศึกษาที่มีผลการเรียนที่อยู่ในระดับที่ดี ให้ทักษะเพิ่มมากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาในการเข้าร่วมงานประกวดต่างๆ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวสามารถสนับสนุนและกระตุ้นให้นักศึกษาส่วนใหญ่เห็นถึงความสำคัญและได้รับรางวัลจากโครงการประกวดต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในคุณภาพของนักศึกษาจากบุคคลภายนอก นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัย ซึ่งทางผู้รับผิดชอบโครงการฯ คาดหวังว่าในระยะยาวโครงการนี้ จะเป็นการสร้างตัวอย่างที่ดี แก่นักศึกษากลุ่มอื่นๆ ให้มีค่านิยมชื่นชมคนเก่ง คนดี คนใฝ่ในการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นการจุดประกายให้นักศึกษารุ่นน้องขยันเล่าเรียน โดยการเข้าร่วมโครงการฯนี้จะเป็นรางวัล สำหรับนักศึกษาเรียนดีขยันเล่าเรียนเหล่านั้น

ในปีการศึกษา 2551 ซึ่งเป็นปีแรกของการจัดโครงการเพิ่มศักยภาพนักศึกษาเรียนดีฯ ซึ่งทางโครงการฯ ยังไม่ได้รับอนุมัติในเรื่องของงบประมาณจากมหาวิทยาลัย แต่ทางคณาจารย์ในคณะฯเห็นว่าควรดำเนินโครงการนี้ต่อไป ดังนั้น คณาจารย์ของคณะฯจึงร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาที่ 3/2551 โดยนำนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกของทั้ง 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชา สถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบภายใน และสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์เข้าเรียน และเมื่อนักศึกษาผ่านการเรียนการสอนของโครงการฯ ก็จะได้รับการส่งเสริมให้ร่วมในโครงการประกวดด้านการออกแบบรวมทั้งเป็นตัวแทนของคณะฯ ในการเข้าร่วมกิจกรรมที่คณะฯมอบหมายต่อไป

ในปีการศึกษา 2552 ทางมหาวิทยาลัย ได้กำหนดวิสัยทัศน์ แผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย และคณะ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์โดยได้กำหนดอัตลักษณ์ คือ IDEA KASEM ซึ่งโครงการเพิ่มศักยภาพนักศึกษาเรียนดีฯ เป็นโครงการหนึ่งที่ตอบสนองอัตลักษณ์ดังกล่าวโดยมุ่งมั่นสร้างความเป็นเลิศ (E=Excellence) ด้วยเหตุนี้ทางมหาวิทยาลัยจึงอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการตั้งแต่ในปีการศึกษา 2552 ถึง 2553 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนักศึกษาในโครงการฯได้ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการประกวดต่างๆ ขององค์กรภายนอกและได้รับรางวัล ทั้งในระดับชาติและระดับประเทศ จึงเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับคณะฯและมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง

ในปีการศึกษา 2554 ท่านอธิการบดีและท่านรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนามีดำริให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ดังนั้นจึงมอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สกนธ์ ภู่งามดี และอาจารย์แทน พิธิยานุวัฒน์ ร่วมหารือกันเรื่องการผนึกกำลังระหว่างโครงการเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาที่เรียนดีกับศูนย์พัฒนาศักยภาพ ทั้งนี้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของงาน และสร้างเสริมความเป็นทีมที่แข็งแกร่งขึ้น ดังนั้นจึงนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ศักยภาพการแข่งขันด้านศิลปะเพื่อการออกแบบ (Center of Art Design Capabilities for Competition : CADCC ) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สกนธ์ ภู่งามดี เป็นผู้อำนวยการศูนย์และมีอาจารย์จากสาขาต่างๆ เป็นคณะกรรมการของศูนย์ ทำหน้าที่ฝ่ายวิชาการและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้ความรู้เชิงทฤษฏีและให้คำแนะนำนักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในการสร้างผลงานด้านศิลปะและการออกแบบเข้าประกวดในโครงการต่างๆ นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป โดยมีการจัดแต่งตั้งคณะกรรมการของศูนย์ฯ ประกอบด้วย

  1. ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษา
  2. ดร.เสนีย์ สุวรรณดี ที่ปรึกษา
  3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์มณี พนิชการ ที่ปรึกษา
  4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ ภู่งามดี ผู้อำนวยการศูนย์ฯ
  5. อาจารย์ธนวัฒน์ ดีนพเก้า รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ
  6. อาจารย์บุญส่ง อุดมกิจโกศล คณะกรรมการ
  7. อาจารย์อริยะ ทรงประไพ คณะกรรมการ
  8. อาจารย์แทน พิธิยานุวัฒน์ คณะกรรมการ
  9. อาจารย์จันทณา บานแย้ม คณะกรรมการและเลขานุการ
  10. นางสาวนันทวดี โชติกุล เจ้าหน้าที่และผู้ช่วยเลขานุการ